บทบาทเทคโนโลยีกับภาครัฐจะต้องเปลี่ยนไปภายใต้รัฐบาล (พรรคร่วม) ก้าวไกล: คุยกับ ส.ส. เท้ง ณัฐพงษ์ – SMS Marketing ราคาถูกที่สุด
ที่ผ่านมาเราอาจจะไม่ค่อยได้เห็นนโยบายในแง่เทคโนโลยีจากพรรคการเมืองที่ใช้ในการหาเสียงเท่าไหร่ แต่การหาเสียงเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคก้าวไกลหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดบ่อย มีบางส่วนเป็นนโยบายที่ค่อนข้างเด่นด้วย เช่น นโยบาย AI ปราบโกง หรือการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเป็น machine readable ก่อนที่ล่าสุด จะประกาศนโยบาย รื้อกระทรวงดิจิทัลฯ
Blognone ก็เลยขอสัมภาษณ์ คุณเท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ รองเลขาธิการ ฝ่ายพัฒนาระบบข้อมูลและดิจิทัลพรรคก้าวไกล อีกรอบ หลังชนะการเลือกตั้ง และเจ้าตัวก็ได้รับเลือกเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับที่ 13 ของพรรค ถึงนโยบาย แนวทางและมุมมองด้านเทคโนโลยีภาครัฐให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เมื่อได้เป็นรัฐบาล
ความแตกต่างหน้าที่และความรับผิดชอบของกระทรวงดิจิทัลฯ (DES) และ DGA
ที่ผ่านมาเวลานึกถึงเทคโนโลยีกับภาครัฐ มักจะนึกถึงแต่กระทรวงดิจิทัลฯ แต่อันที่จริงยังมีหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกันอีกอย่าง DGA ซึ่งในแง่ความแตกต่าง คุณเท้งอธิบายว่าหน่วยงานที่เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนระบบไอที ดิจิทัลภาครัฐคือ DGA หรือสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ซึ่งจะอยู่ภายใต้สำนักงานนายก ซึ่งขอบข่ายความรับผิดชอบจะอยู่แค่ภาครัฐเท่านั้น
ขณะที่กระทรวงดิจิทัลฯ มีหน้าที่นำเทคโนโลยีไม่ว่าจะภาครัฐหรือเอกชน ไปขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งดูภาพกว้างกว่า เช่น การแก้ปัญหามลพิษ PM 2.5 กระทรวงดิจิทัลฯ ก็มีบทบาทได้ หรืออย่างการนำภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้วิเคราะห์ โดยองค์กรที่อยู่ภายใต้กระทรวงดิจิทัลฯ มีทั้งองค์กรของรัฐ องค์กรกึ่งรัฐ และองค์การมหาชน แต่ละองค์กรก็จะมีหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมของตัวเอง
ดังนั้นในมุมพรรคก้าวไกล กระทรวงดิจิทัลฯ เป็นกระทรวงที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนประเทศ แต่กลับเป็นกระทรวงที่ไม่ค่อยได้รับความสำคัญมากนัก จนกลายเป็นกระทรวงเล็กและงบน้อย
เมื่อถามว่าสิ่งที่ก้าวไกลมีแผนอยากจะทำ ควรจะเป็นแค่ DGA มั้ย (เช่น นโยบาย e-government) คุณเท้งบอกว่า สุดท้ายจะได้กระทรวงหรือไม่อยู่ที่การเจรจากับพรรคร่วม แต่โดยส่วนตัวแล้ว พร้อมที่จะไปอยู่กระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อที่จะทำงานได้กว้างและครอบคลุมกว่า เพราะบทบาทจะไม่ได้อยู่แค่ในส่วนภาครัฐเหมือน DGA แต่รวมถึงเอกชนด้วย
ปัญหาของไอทีภาครัฐปัจจุบัน เกิดจากผู้มีอำนาจไม่มีความรู้
เวลาพูดถึงระบบไอทีภาครัฐ เรามักจะนึกถึงความไร้ประสิทธิภาพของเว็บหรือแอป หรือบางหน่วยงานก็มีแอปออกมา 2-3 แอป (เช่น ก.มหาดไทยมี ThaiID และ Dopa Citizen Service) ซึ่งตรงนี้ คุณเท้งบอกว่าเกิดจากปัญหาด้านนโยบาย ทำให้ขาดบูรณาการและการกระจัดกระจาย สะเปะสะปะ ทั้งในแง่ข้อมูลและทิศทางด้านไอที รวมถึงผู้มีอำนาจไม่ได้มีองค์ความรู้มากพอ เมื่ออยากพัฒนาแอปหรือเว็บไซต์ขึ้นมา ต่างคนต่างก็จะไปจ้าง vendor ให้พัฒนาและเป็นคนดูแลระบบ
เมื่อภาครัฐจ้าง vendor ก็ไปนำสู่อีกข้อกังวล ทั้งเรื่องคุณภาพของโค้ด ที่ภาครัฐก็ไม่ได้มีกลไกส่วนกลางมาตรวจสอบหรือกำหนดเป็นมาตรฐาน กลายเป็น black box (เทียบกับการมีราคากลางจากกรมบัญชีกลาง ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอื่นๆ) หรือเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ ที่ข้อมูลเป็นของประชาชน เป็นของรัฐ แต่คนดูแลและเข้าถึงได้ดันเป็นเอกชน
ดังนั้นทางแก้ ต้องเริ่มแก้ที่ระเบียบจัดซื้อจัดจ้างภายใต้ระเบียบสำนักนายก ให้มีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำใน TOR เกี่ยวกับงานด้านไอทีที่ชัดเจน (เช่นต้องกำหนดให้เป็น microservice, ใช้ container ฯลฯ) และรวมศูนย์ในแง่โครงสร้างไอทีทั้งหมด
ถ้าหน่วยงานไหนอยากพัฒนาระบบสาธารณะ ห้ามทำเอง แต่ให้ทำเป็นลักษณะของ webview มาเชื่อมกับแอป “ทางรัฐ” ที่ปัจจุบันก็เป็นเหมือน single portal platform อยู่แล้ว และให้การทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนข้อมูลทุกอย่าง อยู่ที่แพลตฟอร์มกลาง ซึ่งเรื่องการรวมศูนย์ คุณเท้งบอกว่าเป็นความสำคัญลำดับแรกๆ ที่ควรจะเข้าไปแก้ แม้จะยากและใช้เวลานานที่สุดก็ตาม
เรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันและสำคัญไม่แพ้กันคือโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของภาครัฐ (Digital Infrastructure) อย่างคลาวด์กลางภาครัฐ ที่จะแก้ปัญหาได้หลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเรื่องการกระจัดกระจายของข้อมูล หรือเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์
ปัจจุบันแต่ละหน่วยงานแต่ละกระทรวงต่างคนต่างมีศูนย์ข้อมูลเป็นของตัวเอง ต่างคนต่างทำแบบกระจัดกระจาย ซึ่งบางหน่วยงานก็ไม่ผิดที่จะมีศูนย์ข้อมูลเป็นของตัวเอง สำหรับจัดการดูแลเองภายในหน่วยงาน แต่อีกหลายๆ ส่วนก็ควรที่จะเอามากขึ้นคลาวด์กลางภาครัฐ
ตัวอย่างที่น่าเข้าไปศึกษาและนำมาปรับใช้คือกรณีของรัฐบาลอังกฤษ ที่มีนโยบาย cloud-first policy ที่กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐ ถ้าจะทำระบบไอที ต้องขึ้นไปทำบนคลาวด์ภาครัฐเป็นหลัก โดยสนับสนุนให้ใช้ public cloud ก่อนด้วย
ส่วนของไทย เทคโนโลยีคลาวด์ที่รัฐพยายามจะผลักดัน ตั้งงบปีละหลายพันล้านนั้น คุณเท้งมองว่า ยังไม่ได้คุณภาพมากเพียงพอ โดยคุณเท้งเคยเข้าไปคุยกับผู้บริหารบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ที่ปัจจุบันเป็นผู้ให้บริการคลาวด์กลางภาครัฐ ซึ่ง NT ก็ยอมรับว่าทุกวันนี้ให้บริการเป็นแค่ VM ธรรมดา ไม่ใช่เทคโนโลยีคลาวด์ด้วยซ้ำ
ดังนั้นในระยะสั้น NT ในฐานะรัฐวิสาหกิจภายใต้ก.ดิจิทัลฯ ควรจะถอยออกมาและดูแล hard infrastructure เป็นหลัก เช่น เคเบิลใต้น้ำ การทำลิงก์ระหว่างศูนย์ข้อมูล ฯลฯ ส่วนคลาวด์กลางภาครัฐจริงๆ ควรจะดึงดูดให้ผู้ให้บริการระดับโลกอย่าง AWS, GCP หรือ Azure มาลงทุนและตั้งศูนย์ข้อมูลในไทย แลกกับการที่ภาครัฐจะเหมา instance ไปเลย พร้อมกันนั้นก็หาโอกาสดึงดูดองค์ความรู้จากบริษัทเหล่านี้มาด้วย
เรื่องโครงสร้างพื้นฐานอีกประเด็นที่ควรรีบทำ คือการทำ National Digital ID ให้เกิดขึ้นได้จริง ปัจจุบันมีบริษัทหลายแห่งทำ Digital ID พร้อมใช้งานอยู่แล้ว (ภาครัฐก็เช่น เป๋าตังของ ก.คลังหรือ Thai ID ของก. มหาดไทย ส่วนของเอกชนก็เช่น NDID) แต่ยังขาดหัวโต๊ะที่เป็นรัฐบาล มาเคาะว่าจะใช้ provider ไหน protocol ไหนเป็น National Digital ID สำหรับทุก stakeholder ใช้ไปในทิศทางเดียวกัน
การมี National Digital ID ที่รวมข้อมูลและประวัติต่างๆ เอาไว้ที่เดียว เชื่อมระหว่างภาครัฐและเอกชน จะเป็นกุญแจดอกแรกในการแก้ปัญหาการกระจัดกระจายของข้อมูลและระบบ e-government ให้เกิดขึ้นได้ ประชาชนไม่ต้องเดินทางหิ้วเอกสารไปเขต ไปสำนักงานต่างๆ แต่ทำผ่านแอปได้เลย ที่สำคัญคือลดการคอร์รัปชันลงได้ด้วย เพราะจะตัดคนกลางที่อาจจะดองเอกสาร ดองใบอนุญาตเอาไว้ เงินไม่มา งานไม่ไป และหันไปพึ่งการอนุมัติและกระบวนการต่างๆ ผ่านระบบแทน
อังกฤษก็ยังเป็นตัวอย่างที่น่าศึกษาเช่นกัน จากเดิมที่หน่วยงานภาครัฐมีกว่า 2,000 เว็บไซต์ ปัจจุบันบริการและข้อมูลทุกอย่างรวมอยู่ที่เดียวคือ gov.uk ซึ่งใช้เวลาแค่ 2 ปีเท่านั้น ที่ผ่านมาทางพรรคก็มีการเข้าไปพูดคุยกับสถานทูตและตัวแทนของรัฐบาลอังกฤษ เพื่อขอองค์ความรู้มาปรับใช้ไปบ้างแล้ว
ในแง่บุคลากรด้านไอทีภาครัฐ มีอะไรน่าเป็นห่วงไหม ในการดำเนินนโยบายด้านไอทีต่างๆ
คุณเท้งบอกว่าความสามารถของหน่วยงานในปัจจุบัน เช่น NT มีศักยภาพสูงมาก หรือกระทั่งเรื่องของ hard infrastructure ของไทยก็พร้อมมาก ดังนั้นปัญหาตอนนี้ไม่น่าใช่เรื่องของคน แต่เป็นเรื่องของการขาดการนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาใช้ อย่างเทคโนโลยีคลาวด์ ที่คุณเท้งค่อนข้างเน้น และมองว่าภาครัฐไม่มีทางตามเอกชนทัน ถ้ารอรัฐทำองก็คงไม่น่าได้ทำเร็วๆ นี้
ดังนั้นการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ก็อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าต้องดึงดูดให้เอกชนระดับโลกมาตั้งศูนย์ข้อมูลในไทย มีข้อตกลงเรื่องการส่งต่อองค์ความรู้ ในอนาคตเราอาจจะเริ่มพัฒนาขึ้นมาได้เองก็ได้
ใช้อาสาสมัคร เพื่อแก้ปัญหา red tape
ส่วนสาเหตุที่ก้าวไกลริเริ่มโครงการใช้อาสาสมัคร เพราะหลายๆ กรณี ถ้าหากต้องรอกลไกภาครัฐ จะเสียเวลาอย่างมาก และหากยิ่งเกี่ยวกับงบประมาณ ดีไม่ดี 3 ปีเพิ่งได้เริ่มทำ พูดให้เห็นภาพก็คือ ปีนี้รัฐบาลชุดใหม่เข้าไปยุ่งกับงบประมาณไม่ได้แล้ว เพราะรัฐบาลที่แล้วตั้งงบเอาไว้แล้ว ปีนี้ทำได้แค่ตั้งโครงการต้องรอปีหน้าเพื่อผ่านสภาหลังจากผ่านสภารอกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอีกเกือบๆ 1 ปี
ดังนั้นการใช้อาสาสมัครก็เปรียบเสมือนการแฮ็กกระบวนการด้านงบประมาณของภาครัฐ พอทำเสร็จแล้วก็สามารถใช้อำนาจรัฐหยิบมาใช้งานได้ทันที ซึ่งคุณเท้งบอกด้วยว่า วิธีนี้ที่ได้รับความสนใจและคนจำนวนมากพร้อมกันเข้ามาช่วย เป็นเพราะ 8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเผด็จการทำให้หลายๆ อย่างไม่ฟังก์ชันอย่างที่ควรจะเป็น หลายภาคส่วนเลยอึดอัด ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปกติและมีประสิทธิภาพ อารมณ์ของคนก็อาจจะไม่เป็นแบบที่ทางพรรคได้รับ ซึ่งก็ต้องขอบคุณทุกคนที่เข้ามาช่วย
ณ ตอนนี้โปรเจ็คที่ใช้อาสาสมัครบน Discord ก้าว geek ร่วมกันทำและสำเร็จไปแล้วคือการวิเคราะห์ผลการเลือกตั้ง ส่วนอีกโปรเจ็คที่เริ่มไปแล้ว และคุณเท้งมองว่าเป็น quick win ระยะสั้นคือการทำเว็บ hack.go.th
หากเปรียบเทียบแอป “ทางรัฐ” เป็นเหมือน portal สำหรับประชาชน เว็บ hack.go.th ก็จะเป็น portal สำหรับนักพัฒนา หากภาคเอกชนเจ้าไหน อย่างทำผลิตภัณฑ์หรือบริการอะไรสักอย่าง และต้องการเชื่อม API กับระบบของภาครัฐ ไม่ว่าจะหน่วยงานไหน ก็สามารถเข้ามาผ่าน hack.go.th ได้ที่เดียว ซึ่งกรณีนี้ก็มีสิงคโปร์เป็นตัวอย่าง
อีกฟังก์ชันของ hack.go.th คือการเป็นพื้นที่ที่ทำให้ซอร์สโค้ดของภาครัฐทั้งหมดเป็นสาธารณะ ซึ่งจะช่วยลดความซ้ำซ้อนในการจัดซื้อจัดจ้างระบบไอที เพราะมีอยู่แล้ว แต่ละหน่วยงานสามารถนำไปใช้ได้เลยหรือกระทั่งพัฒนาต่อยอดก็ยิ่งดี
ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ traffy fondue ที่คุณชัชชาติเอาของ สวทช. มาใช้ ซึ่งเป็นโอเพนซอร์สอยู่แล้ว หน่วยงานท้องถิ่นอื่นสามารถเอาไปใช้ได้เลย เลียนแบบก็ได้หรือกระทั่งต่อยอดพัฒนาบริการเพิ่มขึ้นมาก็ยังได้
นอกจากนี้การโอเพนซอร์ส ยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพของโค้ดที่ภาครัฐจ้าง vendor พัฒนาด้วย เพราะจะมีคนจำนวนมากเข้ามาช่วยตรวจสอบ ปรับปรุงให้อยู่ตลอด
ออกแบบบัตรประชาชนใหม่ อยากเพิ่มอะไรเข้าไปบ้าง
สิ่งที่อยากเพิ่มคือการเก็บข้อมูลไบโอเมตริก ปัจจุบันกรมการปกครองมีการเก็บลายนิ้วมือของประชาชนอยู่ แต่ปัญหาปัจจุบันคือ ยังไม่มีเทคโนโลยีที่จะสามารถแชร์ข้อมูลไบโอเมตริกกันได้ เช่น สำนักงานเขตที่สแกนลายนิ้วมือประชาชน จะยังไม่สามารถแบ่งปันข้อมูลกับหน่วยงานอื่นได้ เพราะมาตรฐานการอ่านและถอดข้อมูลลายนิ้วเป็นคนละมาตรฐานกัน
เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องระยะยาว ภาครัฐอาจจะตั้งศูนย์ที่วิจัยเทคโนโลยีไบโอเมตริกของชาติ ทำให้เป็นแพลตฟอร์มกลาง ให้ภาครัฐและเอกชนสามารถใช้ร่วมกันได้ก็จะดี
4 ปีในกระทรวงดิจิทัล คิดว่านโยบายจะสำเร็จทันไหม?
คุณเท้งบอกว่า พรรคมีการวางนโยบายเป็นเฟรมเวิร์ค 1 วันแรก 100 วันแรก และ 4 ปี โดยแบ่งเป็นนโยบายระยะสั้นที่สามารถเริ่มทำได้เลย เช่น Digital ID หรือการแก้ปัญหาแอปเป๋าตัง (ปัญหาในแง่ กลไกรัฐสนับสนุนให้เป็นแอป wallet เจ้าใหญ่) อาจอาศัยแค่ มติ ครม. ไม่ต้องถึงกับต้องผ่านสภา เพียงแต่จำเป็นต้องอาศัยการร่วมมือจากหลายฝ่าย แค่ก.ดิจิทัลฯ กระทรวงเดียวทำไม่ได้
ส่วนแผนนโยบายระยะกลางถึงยาว ก็เป็นนโยบายที่ต้องใช้เวลาการผ่านพระราชบัญญัติเกิน 1 ปี เช่น เมื่อเรามี Digital ID แล้ว ก็จำเป็นต้องออก พ.ร.บ. ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance Act) แบบของสหภาพยุโรปที่เป็นเหมือนเฟรมเวิร์คด้านกฎหมายให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างรัฐและเอกชน ผ่านมาตรฐานกลาง เป็นรูปธรรมมากขึ้น
อย่าง Data Governance Act ของสหภาพยุโรปก็มีกำหนดเลยว่าแต่ละอุตสาหกรรม จะมีอนุกรรมาธิการของตัวเอง (เช่นการเงิน การศึกษา สาธารณสุข) ที่อยู่ภายใต้กรรมาธิการชุดใหญ่อีกที เพื่อทำหน้าที่เป็น regulator ออกมาตรฐานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลของแต่ละอุตสาหกรรม
ส่วนนโยบายที่คิดว่าต้องใช้เวลามากที่สุด คือเรื่องการบูรณาการข้อมูลภาครัฐ จุดเริ่มต้นอาจจะง่าย ในการแก้ระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ของใหม่ที่จะทำหลังจากนี้ ก็ค่อยๆ บูรณาการกันเข้ามาได้เลย แต่ของเก่าที่ต้องแก้ย้อนหลัง อย่างการโยกย้ายระบบและฐานข้อมูลของแอปในภาครัฐหลายร้อยแอป มารวมศูนย์ ใช้เวลา 4 ปีก็อาจจะยังไม่เสร็จ แต่มันจะค่อยๆ ดำเนินไปและดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตัวอย่างที่น่าเรียนรู้ก็คือรัฐบาลอังกฤษอย่างที่บอก
เทรนด์เทคกับการนำมาประยุกต์ใช้กับภาครัฐ
Blognone หยิบเอา buzzword ที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามาถามคุณเท้งว่ามีคิดเห็นอย่างไร
Blockchain: คุณเท้งมองว่าประโยชน์หลักๆ คือ เป็นแหล่งเก็บข้อมูลที่ไม่มีใครสามารถแก้ไขได้ รัฐอาจจะเอามาใช้เพิ่มการมีส่วนร่วมกับประชาชน เช่น การเลือกตั้งออนไลน์ ทำให้ประชาชนเชื่อถือและเสริมสร้างความโปร่งใสได้ ส่วนเรื่องคริปโตที่คนส่วนใหญ่นึกถึงเมื่อพูดถึงบล็อคเชน คุณเท้งมองว่ารัฐไม่ควรเข้าไปยุ่ง CBDC เองก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคริปโตหรือวิ่งบนบล็อคเชนด้วยซ้ำ เพราะรัฐก็มีอำนาจมีความน่าเชื่อถือในการรับรองอยู่แล้ว
Metaverse: น่าจะยังไม่เกิดประโยชน์เร็วๆ นี้ อาจจะต้องรอให้มี Human-Computer Interface เกิดขึ้นจริงก่อน (ฝังชิปในสมองแบบหนังไซไฟ)
AI: เกิดขึ้นจริงและมีอยู่รอบตัวแล้ว แต่สิ่งที่ภาครัฐควรจะผลักดันต่อยอดให้เกิดคือ Data Economy อย่างในสหยุโรปมี Data Act ที่กำหนดเรื่องการใช้ประโยชน์จากคนที่ถือข้อมูล เช่น การนำข้อมูลที่ถูก de-identified ไปไว้ในถังกลาง ให้หลายภาคส่วนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ในอนาคตประเทศไทยควรศึกษาและมีกฎหมายลักษณะนี้เช่นกัน อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีการออก พ.ร.ฏ. ตั้งสถาบันข้อมูลขาดใหญ่ของชาติ (Big Data Insitute) ซึ่งก็ควรที่จะเข้ามามีบทบาทใหญ่ในเรื่องนี้ แต่ตอนนี้ BDI ยังไม่มีอำนาจทางกฎหมายเพราะยังไม่มี Data Act แบบสหภาพยุโรป
สุดท้าย ให้คุณเท้งแก้ต่าง บทความของ Post Today ว่าด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน หากนั่งเป็น รมต. กระทรวงดิจิทัลฯ กับบทบาทการเป็นผู้ก่อตั้ง abosolute.co.th ผู้ให้บริการคลาวด์โซลูชัน
คุณเท้งมองว่า ตัวกฎหมายห้ามผลประโยชน์ทับซ้อนลักษณะนี้อยู่แล้ว ดังนั้น absolute.co.th จะไม่สามารถเข้ามารับงานภาครัฐได้ เรื่องนี้จึงไม่น่าจะมีประเด็นอะไร อีกมุมคือเรื่องนี้ก็เป็นการทำหน้าที่ที่ดีของสื่อในการตรวจสอบ สืบประวัติ และทำให้ประชาชนตื่นตัวและช่วยกันจับตาว่า อนาคตบริษัทที่คุณเท้งก่อตั้ง หรือที่มีครอบครัวถือหุ้นอยู่ จะเข้ามารับงานภาครัฐหรือเปล่า