หลังวีดีโอที่นำเสนอข้อมูลทางการแพทย์แบบผิด ๆ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะช่วง COVID YouTube จึงประกาศปรับปรุงนโยบายด้านสุขภาพ แบนเนื้อหาเกี่ยวกับสภาวะสุขภาพ การรักษา และสารต่าง ๆ ที่ขัดแย้งกับข้อมูลจากหน่วยงานด้านสุขภาพในท้องถิ่นหรือองค์การอนามัยโลก (WHO)
ภายใต้นโยบายนี้ YouTube จะพิจารณาเนื้อหาจากแนวทางการรักษาของหน่วยงานด้านสุขภาพทั่วโลก และประเมินว่า ข้อมูลดังกล่าวมีความเสี่ยงด้านสาธารณสุขสูงหรือไม่, ขัดแย้งกับข้อมูลที่ถูกต้องเผยแพร่อยู่แล้วหรือไม่ รวมถึงแนวโน้มที่จะเป็นข้อมูลปลอมข้อมูลเท็จมากน้อยแค่ไหนโดย YouTube จะจำแนกเนื้อหาที่ให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่ไม่ถูกต้องออกเป็น 3 หมวดหมู่ ได้แก่
เนื้อหาที่ให้ข้อมูลเรื่องการป้องกันที่ไม่ถูกต้อง
คือ เนื้อหาที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกัน การแพร่กระจายของโรค รวมถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน ที่ขัดแย้งกับแนวทางการรักษาของหน่วยงานด้านสุขภาพ เช่น เนื้อหาที่ให้ส่งเสริมให้ใช้สารอันตรายเพื่อป้องกันโรค
เนื้อหาที่ให้ข้อมูลเรื่องการรักษาที่ไม่ถูกต้อง
คือ เนื้อหาเกี่ยวกับการรักษาสภาวะสุขภาพ ที่ขัดแย้งกับแนวทางการรักษาของหน่วยงานด้านสุขภาพ รวมถึงเนื้อหาที่ส่งเสริมการใช้สาร หรือการกระทำที่เป็นอันตราย อย่าง เนื้อหาที่สนับสนุนให้เข้ารับการรักษาที่ไม่มีการรับรองแทนการไปพบแพทย์ เช่น
เนื้อหาที่แนะนำการรักษาโรคมะเร็งด้วยสารซีเซียมคลอไรด์
เนื้อหาที่ปฏิเสธต่อข้อมูลจริง
เช่น เนื้อหาที่โต้แย้งการมีอยู่ของสภาวะสุขภาพต่าง ๆ เช่น เนื้อหาที่ปฏิเสธจำนวนผู้เสียชีวิตจาก COVID-19
นอกจากนี้ YouTube ยังเริ่มทยอยแบนเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็งแล้ว เช่น วิดีโอที่อ้างว่า กระเทียมสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ หรือ การกินวิตามินซีสามารถแทนการฉายรังสี
ที่มา : YouTube