นักวิจัยค้นพบว่าหมูหายใจทางรูก้นได้ เตรียมจะทดลองวิจัยกับคนต่อไป – SMS Marketing ราคาถูกที่สุด
นักวิจัยจากญี่ปุ่นค้นพบว่าหมูสามารถรับเอาออกซิเจนเข้าทางรูทวารหนักได้แทนการหายใจตามปกติทางจมูกและปาก ซึ่งนี่อาจนำไปสู่แนวทางใหม่สำหรับการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ
ทีมนักวิจัยพบจาก Tokyo Medical and Dental University ได้ทำการทดลองอัดของเหลวที่มีส่วนผสมของออกซิเจนเข้าทางรูทวารหนักผ่านไปยังลำไส้ของหมู ทำให้มันสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้แม้ไม่มีการหายใจด้วยปอด กล่าวคือร่างกายของหมูสามารถรับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านลำไส้
ซึ่งการวิจัยทดลองนี้มาจากการสังเกตธรรมชาติของปลาชนิดหนึ่ง ก่อนจะเริ่มทดลองกับสัตว์ขนาดเล็กอย่างหนู และมาสู่การทดลองกับหมูในงานวิจัยล่าสุด ซึ่งอนาคตก็เตรียมจะทำการทดลองกับร่างกายคนเป็นลำดับถัดไป
จุดเริ่มต้นนี้ทั้งหมดทั้งมวลมาจากการสังเกตปลาโลชซึ่งเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งที่มีความพิเศษตรงที่มันสามารถหายใจผ่านลำไส้ได้เมื่อตกอยู่ในภาวะขาดออกซิเจน โดยเนื้อเยื่อบริเวณลำไส้ของปลาโลชจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างตัวเองทำให้ปลาหายใจได้ และจากจุดนั้นก็ทำให้นักวิทยาศาสตร์เกิดความสงสัยว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะสามารถหายใจผ่านทางลำไส้ได้แบบเดียวกับปลาโลชหรือไม่
จากการสังเกตปลาจึงนำมาซึ่งการทดลองที่ทีมนักวิทยาศาสตร์ของ Tokyo Medical and Dental University ร่วมกับ Nagoya University Graduate School และแผนกศัลยแพทย์ทางเดินหายใจของ Kyoto University นำเอาหนูที่อยู่ในภาวะขาดออกซิเจนมารับการอัดก๊าซออกซิเจนผ่านทางรูทวารหนัก ซึ่งก็พบว่าหนูที่ได้รับการอัดก๊าซมีชีวิตรอดอยู่ได้นานกว่าหนูอีกกลุ่มที่ขาดออกซิเจนแต่ไม่ได้รับการอัดก๊าซ
จากนั้นทีมวิจัยได้ทดลองเพิ่มเติมโดยการลอกเยื่อเมือกในลำไส้ออกจากหนูเพื่อดูว่ามันจะสามารถรับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ซึ่งผลการทดลองก็พบว่าหนูมีชีวิตรอดอยู่ได้นานกว่าเดิมเมื่อเปรียบเทียบกับตอนที่รับการอัดก๊าซเฉยๆ โดยไม่ได้ลอกเยื่อเมือกออก ทั้งนี้การทดลองในขั้นตอนนี้ไม่เพียงแต่จะพบว่าหนูมีชีวิตรอดได้นานขึ้นเท่านั้น แต่ยังพบว่าหนูไม่แสดงอาการหอบและไม่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นด้วย
การลอกเยื่อเมือกในลำไส้ของหนูออกก่อนการทดสอบให้ออกซิเจน
หลังผ่านกระบวนการทดลองในขั้นตอนที่ลอกเยื่อเมือกออกจากลำไส้ของหนูแล้ว ทีมวิจัยจินตนาการว่าเมื่อลอกเยื่อเมือกออกย่อมทำให้เกิดความรู้สึกระคายเคืองดังนั้นอาจจะดีกว่าหากสามารถทำการให้ออกซิเจนในรูปแบบของเหลวแทนการให้ในสถานะก๊าซ จึงเกิดการทดลองในขั้นถัดมาโดยเปลี่ยนจากการอัดก๊าซออกซิเจนเป็นการอัดของเหลวทำละลายออกซิเจนเข้าไปแทน โดยใช้สาร perfluorodecalin ที่มีคุณสมบัติสามารถทำละลายออกซิเจนปริมาณมากได้ (สารนี้เคยใช้สำหรับการให้ออกซิเจนแก่ทารกแรกเกิดที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ และใช้เป็นเลือดเทียมเพื่อช่วยในกระบวนการแลกเปลี่ยนออกซิเจนระดับเนื้อเยื่อ) ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ว่าหนูสามารถหายใจด้วยการรับออกซิเจนในรูปแบบของเหลวได้เช่นกัน
ภาพอธิบายการทดสอบให้ออกซิเจนในรูปแบบของเหลวผ่านทวารหนักให้หนู
งานวิจัยทดลองทั้งหมดที่ทำกับหนูทดลองดังที่กล่าวมานั้นได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปีก่อน และปีนี้ทีมวิจัยได้เปลี่ยนมาทดลองกับหมูซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และก็พบว่าหมูสามารถหายใจด้วยการรับออกซิเจนผ่านทางรูทวารหนักทั้งในสถานะก๊าซและของเหลวได้เช่นเดียวกัน โดยหมูที่มีขนาดตัว 50 กิโลกรัมสามารถรับออกซิเจนผ่าทางทวารหนักและมีชีวิตรอดอยู่ได้นาน 30 นาทีแม้จะอยู่ในภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวที่ปกติแล้วมีความรุนแรงในระดับที่ทำให้ตายได้
ทีมวิจัยกำลังพิจารณาวางแผนเพื่อจะเริ่มทดลองกับร่างกายคนในลำดับถัดไป ซึ่งหากได้ผลเชิงบวกเหมือนการทดลองกับหนูและหมูดังเช่นก่อนหน้านี้ ก็อาจนำไปสู่เทคนิคการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการหายใจด้วยวิธีการใหม่เพิ่มเติมจากที่ในปัจจุบันมีอยู่ 2 วิธี คือการใช้เครื่องช่วยหายใจอัดอากาศเข้าสู่ร่างกายคนผ่านทางจมูกและปาก และการใช้เครื่อง ECMO ซึ่งเป็นการดึงเอาเลือดออกจากร่างกายผู้ป่วยมาเข้าเครื่องปอดเทียมเพื่อรับออกซิเจนก่อนหมุนเวียนกลับเข้าสู่ร่างกาย
ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเอกสารงานวิจัยได้ที่นี่
ที่มา – Vice