สหรัฐฯ และรัสเซีย ส่งตัวแทนแย่งตำแหน่งเลขาธิการ ITU หลังคนปัจจุบันจะหมดวาระสิ้นปีนี้ – SMS Marketing ราคาถูกที่สุด
International Telecommunication Union (ITU) หรือสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หน่วยงานในสังกัดสหประชาชาติ กำลังจะดำเนินการสรรหาผู้ทำหน้าที่เลขาธิการคนใหม่ซึ่งเป็นตำแหน่งเจ้าหน้าที่ผู้บริหารสูงสุดของ ITU โดยตอนนี้มีตัวแทนจากสหรัฐอเมริกาและรัสเซียฝ่ายละคนเป็นตัวเลือก 2 คนสุดท้ายที่จะได้รับโอกาสทำงานนี้
ตัวแทนจากสหรัฐฯ นั้นคือ Doreen Bogdan-Martin ซึ่งปัจจุบันดูแลงานสำนักพัฒนาโทรคมนาคมของ ITU มาตั้งแต่ปี 2018 โดยเธอเริ่มทำงานด้านนี้ในสำนักงานโทรคมนาคมและสารสนเทศแห่งชาติอันเป็นหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เมื่อปี 1989
ส่วนทางด้านรัสเซียนั้นเสนอ Rashid Ismailov อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาดิจิทัล, การสื่อสารและสื่อมวลชน ซึ่งเป็นกระทรวงหนึ่งของรัสเซีย ทั้งยังเคยเป็นประธานของ VimpelCom บริษัทลูกประจำภาคพื้นรัสเซียของ Veon ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมจากประเทศเนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้เขายังเคยทำงานให้กับ Ericsson, Nokia และ Huawei มาแล้ว
ซ้าย: Doreen Bogdan-Martin, ขวา: Rashid Ismailov (ภาพจาก Wikimedia Commons – 1, 2)
การเลือกเลขาธิการคนใหม่นี้เพื่อหาผู้มาปฏิบัติงานต่อในปีหน้าหลังจาก Houlin Zhao เลขาธิการคนปัจจุบันจากประเทศจีนซึ่งทำหน้าที่ 2 วาระมาต่อเนื่อง 8 ปี จะสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 31 ธันวาคมนี้
การตัดสินใจแต่งตั้งเลขาธิการ ITU คนใหม่จะทำโดยการลงคะแนนเลือกในงานประชุม Plenipotentiary Conference ซึ่งเป็นการประชุมสำคัญที่จัดขึ้นทุกๆ 4 ปี โดยรอบนี้จะจัดในวันที่ 26 กันยายนถึงวันที่ 14 ตุลาคม ที่เมือง Bucharest ประเทศโรมาเนีย โดยพร้อมกันนี้จะมีการแต่งตั้งตำแหน่งผู้บริหารสำคัญอื่นๆ ของ ITU อีก 4 ตำแหน่งด้วย อันได้แก่ รองเลขาธิการ ITU, ผู้อำนวยการสำนักกิจการวิทยุคมนาคม, ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานโทรคมนาคม และผู้อำนวยการสำนักพัฒนาโทรคมนาคม (ซึ่งเป็นตำแหน่งปัจจุบันของ Doreen Bogdan-Martin)
การแต่งตั้งตำแหน่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ITU ในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะ ITU เป็นหน่วยงานนานาชาติที่มีชาติสมาชิก 193 ประเทศ มีประวัติยาวนานถึง 157 ปี (ก่อตั้งเมื่อปี 1865 เพื่อกำกับดูแลมาตรฐานการสื่อสารโทรเลขในระดับนานาชาติ) โดยบทบาทหน้าที่ของ ITU นั้นไม่เพียงแต่จะเป็นผู้กำหนดทิศทางและมาตรฐานของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม แต่ยังมีสภาพเป็นเสมือนผู้คุมกฎกลายๆ ในเรื่องกิจการโทรคมนาคมและการสื่อสารระหว่างประเทศด้วย
ที่มา – Capacity