รู้จักทีมพัฒนา NITMX ผู้อยู่เบื้องหลัง PromptPay ที่พลิกโฉมการโอนเงินระดับประเทศ – SMS Marketing ราคาถูกที่สุด
ในปัจจุบันนี้ ต้องยอมรับว่าระบบการโอนเงินต่างธนาคารแบบ Real-Time มีความสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง ปลอดภัย และใช้งานง่าย โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งมีปริมาณธุรกรรมโอนเงินต่างธนาคารเป็นอันดับต้นๆของโลก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการให้บริการระบบ PromptPay ที่ NITMX เริ่มให้บริการมาตั้งแต่ต้นปี 2560 ซึ่งรองรับการโอนเงินรูปแบบใหม่ด้วยเบอร์มือถือ หรือหมายเลขบัตรประชาชน และการชำระเงินด้วย QR Code Payment ทำให้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว
แน่นอนว่าการสร้างระบบการโอนเงินต่างธนาคารแบบนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ง่ายๆ ถ้าไม่มีตัวกลางที่คอยทำหน้าที่ตรวจสอบ เชื่อมโยงและถ่ายโอนข้อมูลการทำธุรกรรม ไม่ว่าจะเป็นหมายเลขบัญชี หมายเลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ หรือจำนวนเงิน ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลัง คือ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด หรือ NITMX ที่คอยดูแล ตรวจสอบ และพัฒนาปรับปรุงระบบการชำระเงิน โอนเงินระหว่างธนาคารในประเทศไทย หรือที่เรียกกันว่าระบบ ITMX (National Interbank Transaction Management and Exchange) โดยที่ผ่านมาระบบของ NITMX มีเสถียรภาพสูง สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลา แม้ช่วงเวลาที่มีปริมาณธุรกรรมสูงมากๆ เช่น ช่วงสิ้นเดือน
ตอนนี้โอกาสของนักพัฒนาที่ต้องการจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบศูนย์กลางทางการเงินระดับประเทศมาถึงแล้ว บทความนี้เราจะทุกท่านไปเปิดโลกการทำงานของทีมงานหลักๆ ใน NITMX มากยิ่งขึ้น
ทีม Development
คุณโสฬส หงส์หยก ตำแหน่ง Head of Development ของ NITMX เล่าให้ฟังว่า โครงสร้างภายในทีม Development ของ NITMX ไม่แตกต่างจาก Software House ทั่วไปเท่าไหร่นัก เพราะประกอบไปด้วยทีม
Front-End (Fullstack) รับผิดชอบการทำ Web App อย่างระบบรีพอร์ตธุรกรรมและการคิดค่าธรรมเนียม (ธนาคารสมาชิก)
Back-End รับผิดชอบระบบ Microservice ของ PromptPay
DevSecOps ดูแลการทำ Automated Test และ Automated Deploy
CI/CD
คุณโสฬส หงส์หยก Head of Development
ผลิตภัณฑ์ที่ทีม Development ดูแลจะเกี่ยวกับระบบธุรกรรมการเงินต่างๆ ที่ NITMX รับผิดชอบ ขณะที่กรณีของตัวระบบ PromptPay มีการเริ่มพัฒนาตั้งแต่ก่อนที่ NITMX จะมีทีม Development โดยมีการจ้างทีมพัฒนาระดับโลกมาช่วยทำ Core Engine กลาง ทำให้ทีม Development ที่ตั้งภายในจะพัฒนา Microservices ของ Products ต่างๆ ยกตัวอย่างของระบบ PromptPay เช่น API Verify Slip, API Lookup เป็นต้น และผลิตภัณฑ์ ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น เช่น Cross-Border QR Payment , ICS System เป็นต้น
ในแง่กระบวนการทำงานของทีม ก็ไม่แตกต่างจากบริษัทซอฟต์แวร์ภายนอกเพราะใช้ระบบ Agile and Scrum เมื่อรับ Requirement และ Use-Case Scenario มาแล้วก็จะนำมาวิเคราะห์ ทำ Grooming แล้วนำ Backlog มาทำในแต่ละ Sprint ความแตกต่างสำคัญของการทำงานที่ NITMX คงเป็นเรื่องของความถูกต้องที่ต้องระมัดระวังมาก เพราะทุกส่วนคือความรับผิดชอบระบบการเงินของประเทศ และประสิทธิภาพที่ระบบมีอัตราการใช้งานที่เติบโตสูงต้องรองรับการขยายตัวได้ดี
คุณโสฬสปิดท้ายด้วยว่า ความแตกต่างของการทำงานที่นี่คือ ความภาคภูมิใจ จากการที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ระดับประเทศ หรือเป็นส่วนที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพยิ่งขึ้น รู้สึกว่าทักษะและการพัฒนาทักษะ เกิดประโยชน์ระดับประเทศ มีคนใช้งานจริงๆ
ทีม Solution Architect
คุณน้ำพุ ทิพย์สถานสมบัติ ตำแหน่ง Solution Architect อธิบายว่าทีมนี้มีอยู่ 2 หน้าที่หลักๆ คือการหาเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้งานให้เหมาะสมกับโปรเจกต์และการออกแบบ Solution ในแต่ละโปรเจกต์ตามชื่อตำแหน่ง ศึกษาความเป็นไปได้ ความเหมาะสม ทั้งในแง่เทคโนโลยี, Infrastructure, Middleware, ความปลอดภัย ไปจนถึงต้นทุนที่เหมาะสม ซึ่ง Solution Architect จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกๆ โปรเจกต์ของ NITMX
คุณน้ำพุ ทิพย์สถานสมบัติ Solution Architect
คุณน้ำพุยกตัวอย่างกรณี PromptPay ที่แม้ว่าจะเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ก่อน NITMX มีทีมงาน แต่หน้าที่ของ Solution Architect คือ ต้องคิดตั้งแต่ได้รับ Requirement มาว่า Concept หรือหน้าตาของระบบนี้ควรจะเป็นอย่างไร และเมื่อใช้เบอร์โทรศัพท์หรือบัตรประชาชนเป็นหมายเลขโอนเงิน ก็ต้องคิดว่า ระบบจะรู้ได้อย่างไร ว่าเบอร์โทรศัพท์นั้นๆ เชื่อมกับบัญชีอะไร ธนาคารไหน งานทั้งหมดจะเกิดจากการจินตนาการ ก่อนต่อยอดเป็นการทำเวิร์กชอปเก็บ Requirement เพิ่ม เพื่อเติมเต็มตัวผลิตภัณฑ์
ทีม Application Engineer
ทีม Application Engineer อาจมีหน้าที่คล้ายกับ Solution Architect อยู่บ้าง โดยคุณวลัยนุช ธรรมนิตยกุล ตำแหน่ง Application Engineer Team Lead เล่าว่า Application Engineer (ต่อไปนี้จะเรียกสั้นๆ ว่าทีม App) จะต้องเข้าไปอยู่ในทุกๆ โปรเจกต์ตั้งแต่ต้นเหมือน Solution Architect
แต่ความแตกต่างคือ Solution Architect อาจจะออกแบบในภาพใหญ่ แต่ทีม App จะออกแบบและเขียนสเปคเฉพาะ Level ของแอปพลิเคชัน ก่อนส่งต่อให้ทีม Development รับไปต่อ
คุณวลัยนุช ธรรมนิตยกุล Application Engineer Team Lead
นอกจากโปรเจกต์ใหม่ที่เริ่มจากศูนย์แล้ว โปรเจกต์ที่พัฒนาต่อยอดจากของเดิมก็จะเป็นทีม App ที่ดูแลตั้งแต่ต้น เช่น การปรับปรุงระบบเพื่อการรองรับธุรกรรมต่อวินาที (Transaction Per Second), ระบบ QR หรือการโอนข้ามประเทศของ PromptPay ก็เป็นทีม App ที่รับ Requirement และนำไปดีไซน์สเปค
อีกหนึ่งหน้าที่ของทีม App คือการเป็น Second-line Support ที่จะรับ Ticket ปัญหาต่างๆ จากทีม Operation (หรือทีม Support ที่คอยรับเรื่องจากธนาคารแบบ 24/7) เพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
คุณวลัยนุชบอกด้วยว่า ความสนุก ความท้าทาย และความภาคภูมิใจในการทำงานกับทีม App คือการเอาชนะข้อจำกัดต่างๆ ทั้งเวลาและทรัพยากร รวมถึงการต้องออกแบบระบบที่สามารถเชื่อมโยงกับแต่ละธนาคาร ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่มีระบบภายในที่แตกต่างกัน ให้สามารถวิ่งผ่านและเชื่อมต่อกันได้ทั้งหมด โดยที่ธนาคารไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเยอะ
ทีม Cloud Platform
ทีม Cloud ที่ NITMX จะแบ่งเป็น 2 ทีมย่อยหลักๆ คือ Cloud Infra ที่ดูแลโครงสร้างพื้นฐาน Cloud และ AIOps ที่ตรวจสอบและวิเคราะห์ ป้องกันปัญหา โดยระบบ Cloud ของ NITMX ณ ตอนนี้จะเป็นการวางเซิร์ฟเวอร์แบบ On-Premise ทั้งหมด 100% โดยใน Roadmapในอนาคตก็มีแผนจะปรับเป็น Hybrid ด้วย
หน้าที่ของทีม Cloud Platform ก็ไม่น่าจะแตกต่างกับที่อื่นมากนัก อย่างทีม Infra ก็จะรับ Requirement ร่วมกับทีม App ว่าต้องใช้เซิร์ฟเวอร์แบบไหน ขนาดเท่าไหร่ โหลดเท่าไหร่ โดยใช้เทคโนโลยี Cloud เช่น VM และ SDN ส่งต่อให้ทีม App
ขณะที่ฝั่ง AIOps มีหน้าที่ทำ Real-Time Monitor Dashboard สำหรับโปรเจกต์ใหม่ๆ หาระบบ Automation มาช่วยในการมอนิเตอร์ หรือนำ Big Data มาวิเคราะห์ คาดการณ์และเตรียมตัวรับปัญหาช่วงที่มีการทำธุรกรรมสูงๆ ขณะที่เครื่องมือที่ใช้ก็เป็น Open Source ยอดฮิตทั่วไป เช่น Elasticsearch, Grafana หรือ Tableu ส่วนระบบ AI ก็เขียนจาก Python เป็นหลัก
คุณธนกร เจริญเชาว์ Cloud Platform Team Lead (Infrastructure) (ซ้าย) | คุณบัญชา ปิติโกมล Cloud Platform Team Lead (AIOps)
คุณธนกร เจริญเชาว์ Cloud Platform Team Lead (Infrastructure) บอกว่าความท้าทาย คือ การต้องดีไซน์ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ให้สามารถรองรับการทำธุรกรรมจำนวนมหาศาลให้ได้ โดยต้องวาง Roadmap เผื่อในอนาคต 3-5 ปีข้างหน้าด้วย ซึ่งตรงนี้เป็นความแตกต่างของการทำงานที่ NITMX จากที่อื่น เพราะไม่ใช่แค่รับงานมาทำให้จบแล้วจบ แต่ต้องมองไปถึงอนาคตด้วย รวมถึงหากธนาคารปรับไปใช้เทคโนโลยีที่ใหม่กว่า ก็ต้องปรับตามให้ทัน หรือบางครั้งที่เลือกใช้เทคโนโลยีที่ใหม่แซงหน้าธนาคาร ก็ต้องปรับเข้าหาธนาคาร
ขณะที่ความท้าทายของฝัง AIOps ในมุมคุณบัญชา ปิติโกมล Cloud Platform Team Lead (AIOps) คือประสิทธิภาพในการมอนิเตอร์และคาดการณ์แบบเรียลไทม์ช่วงที่มีการทำธุรกรรมสูงๆ เช่น ต้นเดือนหรือกลางเดือน ทีมต้องวิเคราะห์ให้ได้ คาดการณ์ก่อนและรู้ก่อนอย่างน้อย 1 วินาทีก่อนเกิดปัญหา เพราะด้วยความที่ PromptPay ส่งผลต่อคนไทยทั้งประเทศ ระบบเกิดปัญหาเพียง 1 วินาทีก็สาหัสแล้ว
คุณธนกรและคุณบัญชาพูดไปในทิศทางเดียวกันว่า การทำงานที่นี่และเห็นการเติบโตของการใช้งานระบบ PromptPay มาตั้งแต่สมัยที่ระบบรองรับธุรกรรมได้ 6 ธุรกรรมต่อวินาที (ปัจจุบันประมาณ 6,000 ธุรกรรมต่อวินาที) ทำให้ได้เห็นอิมแพคที่เกิดขึ้นกับคนไทยจริงๆ เวลาอยู่ข้างนอกแล้วเห็นเด็กหรือผู้สูงอายุ สามารถชำระเงินได้ด้วยการสแกนจ่าย ทำให้รู้สึกว่า ความสะดวกสบายของคนเหล่านั้น เกิดขึ้นจากฝีมือของพวกเราด้วย
สรุป
อาจจะเป็นที่นี่ที่เดียว ที่นักพัฒนาจะมีผลงานที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของคนไทยในระดับประเทศ สำหรับผู้ที่สนใจที่อยากจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบศูนย์กลางการเงินระดับประเทศแห่งนี้ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.itmx.co.th
หรือสามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล Email: Recruitment@itmx.co.th หรือ โทร 02 558 7555