หนึ่งในความทะเยอทะยานของมนุษยชาติที่ยังคงเดินหน้าคือการหาหนทางดำรงเผ่าพันธุ์ใช้ชีวิตเป็นการถาวรนอกโลก นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งระบบการเดินทาง, การผลิตและหมุนเวียนทรัพยากรเพื่อการดำรงชีพในอวกาศและบนดาวเคราะห์อื่นมากมาย แต่ปัญหาหนึ่งที่ยังไม่แน่ชัดก็คือมนุษย์เราสามารถสืบพันธ์กันนอกโลกได้หรือไม่?
เพื่อค้นหาคำตอบสำหรับข้อสงสัยดังกล่าวได้มีการทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการสืบพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในอวกาศ ตั้งแต่การทดลองกับแบคทีเรีย ไปจนถึงการศึกษาเรื่องการสืบพันธุ์ของหนู อย่างไรก็ตามยังไม่เคยมีการทดลองเรื่องการสืบพันธุ์ของสัตว์ใหญ่บนอวกาศมาก่อน และจีนตั้งเป้าว่าจะลองทำเรื่องนี้ด้วยการส่งลิงขึ้นไปผสมพันธุ์กันบนสถานีอวกาศ Tiangong ของตนเอง
การสร้างสถานีอวกาศนั้นมีมานานหลายปีแล้ว ซึ่งสถานีอวกาศที่เป็นที่รู้จักและคุ้นหูคนทั่วไปกันมากที่สุดเห็นจะไม่พ้นสถานีอวกาศ ISS ซึ่งเป็นสถานีอวกาศนานาชาติที่มีการริเริ่มเสนอแผนงานสร้างมาตั้งแต่ยุค 70 ทว่าสถานีอวกาศ ISS นั้นไม่ได้มีสภาพเหมาะสำหรับการทดลองให้สัตว์ใหญ่ผสมพันธุ์กันในนั้น ด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ว่างภายในสถานีที่ต้องจัดสรรใช้งานกับภารกิจมากมายหลายอย่าง อีกทั้งการใช้งานร่วมกันระหว่างประเทศก็ย่อมต้องการการเห็นชอบของหลายฝ่ายในการทำการทดลองใดๆ
แต่สถานีอวกาศ Tiangong ซึ่งเป็นหนึ่งใน 2 สถานีอวกาศที่มีอยู่ในขณะนี้เป็นของจีนเพียงชาติเดียว นั่นทำให้การตัดสินใจทำการทดลองต่างๆ สามารถบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น โดย Tiangong นั้นประกอบไปด้วยส่วนประกอบหลักแบ่งออกเป็น 3 โมดูล คือ
Tianhe โมดูลแกนกลางของสถานีซึ่งใช้เป็นพื้นที่พักอาศัยของนักบินอวกาศด้วย มีขนาดภายใน 50 ลูกบาศก์เมตร
Wentian โมดูลส่วนต่อขยายใช้งานเป็นพื้นที่ปฏิบัติงานทดลอง ขนาดพื้นที่ใช้งาน 50 ลูกบาศก์เมตร
Mengtian โมดูลส่วนต่อขยายใช้งานเป็นพื้นที่ปฏิบัติงานทดลอง ขนาดพื้นที่ใช้งาน 32 ลูกบาศก์เมตร
โดยโมดูล Mengtian อันเป็นโมดูลสุดท้ายที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศนั้นเพิ่งถูกประกอบเข้ากับโมดูลแกนกลาง Tianhe สำเร็จเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
ภาพสถานีอวกาศ Tiangong ที่เชื่อมต่อโมดูลต่างๆ จนสมบูรณ์ (ที่มาภาพ: Shujianyang, CC BY-SA 4.0)
ก่อนหน้านี้การทดลองระบบสืบพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตนั้น พบว่าแบคทีเรียสามารถสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศได้บนอวกาศและกลับมาถึงพื้นโลกได้โดยไม่ตายไปเสียก่อน ส่วนการทดลองในสัตว์นั้นสหภาพโซเวียตเคยใช้หนูทดลองผสมพันธุ์กันในอวกาศจนมีหนูบางตัวตั้งท้องแต่พบว่าไม่มีหนูตัวไหนสามารถคลอดลูกออกมาได้อย่างปลอดภัยเมื่อกลับมายังโลก
ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ารังสีคอสมิกในอวกาศมีผลทำให้เซลล์สืบพันธุ์ทั้งสเปิร์มและไข่ด้อยประสิทธิภาพในการผสมพันธุ์ลงไป ทั้งนี้การใช้ชีวิตอยู่ในสถานีอวกาศจะทำให้ได้รับรังสีคอสมิกมากกว่าตอนอยู่บนพื้นโลกหลายเท่าเนื่องจากไม่มีชั้นบรรยากาศคอยป้องกันรังสี และนอกจากเรื่องของรังสีแล้วสภาวะไร้น้ำหนักกลางอวกาศยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อความสามารถในการสืบพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต เนื่องจากแรงดันโลหิตในร่างกายที่เปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงของมวลกล้ามเนื้อและกระดูก รวมทั้งแรงกระทำต่อร่างกายในอิริยาบถต่างๆ ที่ไม่เหมือนสภาวะบนพื้นโลก
รายละเอียดแผนการทดลองของจีนนั้นยังไม่ได้รับการเปิดเผยเป็นที่แน่ชัดแต่คาดกันว่าจีนจะเริ่มจากการทดลองกับสัตว์เล็กก่อนที่จะส่งลิงขึ้นไปทดลองผสมพันธุ์กัน และก่อนจะถึงขั้นตอนนั้นมีเรื่องมากมายที่ต้องฝึกให้ลิงเพื่อให้มันสามารถใช้ชีวิตในสภาวะไร้น้ำหนักได้ ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหาร, การขับถ่าย รวมไปถึงขั้นตอนสำคัญของการทำลูก
ที่มา – Interesting Engineering