ในที่สุดก็มีในมือถือ นักพัฒนาทำแอปวาดภาพด้วย AI (Stable Diffusion) ลง iOS แล้ว – SMS Marketing ราคาถูกที่สุด
Stable Diffusion เป็นหนึ่งในปัญญาประดิษฐ์ชื่อดังที่สามารถวาดภาพได้ตามข้อความบรรยายที่ถูกป้อนให้มันเช่นเดียวกับ DALL-E และ Midjourney โดยที่ผ่านมาผู้ที่ต้องการใช้ Satble Diffusion จะต้องใช้งานผ่านเว็บ DreamStudio ซึ่งอาศัยการประมวลผลบนคลาวด์ หรือไม่หากจะใช้งานประมวลผลบนเครื่องพีซีเองก็ต้องนำเอาโค้ดโอเพ่นซอร์สมาลงเอง
แต่ล่าสุดมีนักพัฒนาแอปที่ชื่อ Draw Things: AI Generation จับเอา Stable Diffusion มารันบนอุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS ได้แล้ว
Liu Liu นักพัฒนาผู้สร้างแอป Draw Things โพสต์บล็อกเล่าความยากของการพัฒนาแอปตัวนี้ว่าเป็นเรื่องการใช้แรม หากเป็น iPhone ที่มีแรม 6 GB ตัว iOS จะตัดการทำงานแอปใดๆ ทันทีที่ใช้แรมเกิน 2.8 GB หรือถ้าหากเป็น iPhone รุ่นที่มีแรม 4 GB หากมีแอปตัวไหนใช้แรมเกิน 2 GB ก็จะโดนตัดการทำงาน
ในการเปิดใช้งานแอป Draw Things ครั้งแรกจะต้องมีการโหลดไฟล์โมเดล Stable Diffusion 1.4 ลงใน iPhone ก่อน หลังจากนั้นก็สามารถป้อนข้อความ (prompt) และสั่งให้แอปสร้างรูปภาพได้
นอกเหนือจากการบอกให้ปัญญาประดิษฐ์วาดรูปภาพขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ผู้ใช้ยังสามารถใช้งานให้มันเติมแต่งรูปภาพ (inpainting) ได้ด้วย การเติมแต่งรูปภาพนี้ก็อย่างเช่นการใช้รูปเก่าที่เบลอหรือมีรอยด่าง, รอยขาด นำมาให้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยเติมภาพในส่วนที่ขาดหายไปให้สมบูรณ์ได้
นอกจากนี้ Draw Things ยังสามารถดาวน์โหลดโมเดลสร้างรูปภาพที่มีสไตล์เฉพาะทาง เช่น “Modern Disney Diffusion” (โมเดลสร้างภาพตัวละคร 3 มิติในสไตล์ Disney) หรือ “Waifu Diffusion” (โมเดลสร้างภาพสาวสวยสไตล์อนิเมะ) มาใช้งานร่วมกันได้ด้วย
ทีมงานของ Ars Technica ได้ทดลองติดตั้งแอป Draw Things และทดสอบใช้งาน ก็พบว่าตัวแอปใช้เวลาหลักนาทีในการสร้างภาพแต่ละภาพ ซึ่งในแง่ความรู้สึกก็ดูช้าสักเล็กน้อย และบางครั้งหากตั้งค่าการทำงานไว้สูงเกินไป ตัวแอปก็ไม่สามารถทำงานได้กับ iPhone รุ่นเก่าเนื่องจากพลังประมวลผลไม่เพียงพอ
อันที่จริงถึงแม้ไม่มีแอปแต่ผู้ใช้ iPhone หรืออุปกรณ์ Android ก็สามารถใช้งาน Stable Diffusion ผ่านทางเว็บ DreamStudio ได้อยู่แล้ว แต่การที่มีแอป Draw Things นี้ขึ้นมาถือเป็นเรื่องน่าสนใจในอีกแง่มุมหนึงที่ได้พิสูจน์ในเชิงหลักการว่าการดึงเอาปัญญาประดิษฐ์วาดภาพมาใส่ลงในอุปกรณ์พกพาและอาศัยเพียงพลังประมวลผลของตัวอุปกรณ์เท่านั้นสามารถทำได้จริง
ที่มา – Ars Technica