Bluesky โซเชียลกระจายศูนย์ที่แยกตัวจาก Twitter ออกแอพ iOS แล้ว, ยังจำกัดผู้ใช้งาน – SMS Marketing ราคาถูกที่สุด
Bluesky บริการโซเชียลเน็ตเวิร์คแบบกระจายศูนย์ ที่ริเริ่มโดย Jack Dorsey อดีตซีอีโอ Twitter ตั้งแต่ปี 2019 และเริ่มเป็นรูปเป็นร่างในปี 2021 ออกแอพเวอร์ชัน iOS แล้ว แต่ยังจำกัดเฉพาะผู้ที่ได้รับเชิญเท่านั้น (App Store)
สถานะของ Bluesky ตอนนี้คือแยกออกมาจาก Twitter เป็นบริษัทใหม่ชื่อ Bluesky PBLLC มีสำนักงานที่เมืองซีแอทเทิล เป็นบริษัทที่จดทะเบียนแบบ Public Benefit Limited Liability Company หวังผลกำไรแต่ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยก่อนหน้านี้ได้รับเงินสนับสนุนจาก Twitter และมี Dorsey นั่งเป็นบอร์ด (ไม่แน่ชัดว่ายังได้เงินจาก Twitter หรือไม่ หลัง Elon ตัดค่าใช้จ่าย)
หน้าตาของแอพ Bluesky แทบไม่ต่างอะไรจาก Twitter ในยุคก่อน Elon Musk เข้ามาบริหาร มีปุ่ม retweet, favorite เหมือนกัน แต่ยังขาดฟีเจอร์อย่าง list และ DM
สิ่งที่แตกต่างคือโปรโตคอลเบื้องหลัง ใช้โปรโตคอลใหม่ที่เรียกว่า AT (Authenticated Transfer Protocol) ทำงานแบบกระจายศูนย์ มีแนวคิดว่าทุกคนสร้างเซิร์ฟเวอร์ได้เองแล้วมาเชื่อมต่อกัน (federated) ลักษณะคล้ายกับโปรโตคอล ActivityPub ที่ใช้ในแอพโซเชียล Mastodon
ในการใช้งาน ผู้ใช้จะได้ชื่อเป็น @username.domain ของเซิร์ฟเวอร์ กรณีนี้คือใช้บนเซิร์ฟเวอร์ของ Bluesky เองคือ @username.bsky.social
ไอเดียหนึ่งที่น่าสนใจของโปรโตคอล AT คือผู้ใช้สามารถเลือก “อัลกอริทึม” ในการแสดง feed ได้เองตามแต่ละเซิร์ฟเวอร์ (Personal Data Servers – PDS) เช่น ดูเฉพาะโพสต์ยอดนิยม, ดูเฉพาะโพสต์แมว ฯลฯ และส่งเสริมแนวคิดการสร้างอัลกอริทึมมาแลกเปลี่ยนซื้อขายกัน แทนการกำหนดอัลกอริทึมโดยแพลตฟอร์ม
แน่นอนว่าทีมผู้สร้าง Mastodon ย่อมไม่ชอบใจ Bluesky ที่มีแนวคิดคล้ายๆ กันกลายมาเป็นคู่แข่ง และพยายามชูว่าควรมาใช้โปรโตคอล ActivityPub ที่เป็นมาตรฐานกลางของ W3C แทนการไปสร้างโปรโตคอลใหม่ของตัวเอง
ตัวของ Jack Dorsey เองไม่ได้สนับสนุนแต่ Bluesky เท่านั้น ก่อนหน้านี้ เขาเพิ่งออกมาเชียร์โซเชียลแบบกระจายศูนย์อีกตัวชื่อ Nostr ที่มีแนวคิดเรื่อง public key มาใช้ยืนยันตัวตน และมีแนวคิดแบบ relay ที่ต่างจากเซิร์ฟเวอร์แบบ ActivityPub หรือ AT
Hey @jack and @bluesky, feel free to check out these GitHub repositories. Might make this unique idea y’all have of a decentralized “Twitter” a bit easier to bring to fruition.https://t.co/tHXeaATUMMhttps://t.co/QJsYpUfAKk
— Mastodon (@Mastodon@mastodon.social) (@joinmastodon) December 11, 2019
ที่มา – TechCrunch