ครม. อนุมัติโครงการเครือข่ายมือถือความถี่ 700MHz ของ NT มูลค่า 6.2 หมื่นล้านบาท – SMS Marketing ราคาถูกที่สุด
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ 14 มีนาคม 2566 ได้เห็นชอบโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G/5G บนคลื่น 700 MHz ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT มูลค่าเกือบ 6.2 หมื่นล้านบาท
โครงการนี้จะใช้คลื่นย่าน 700MHz ที่ CAT Telecom (ชื่อก่อนควบรวมเป็น NT) ประมูลได้ในปี 2563 จำนวน 2 ใบอนุญาต ซึ่งจะนำมาใช้แทนคลื่นย่าน 850MHz, 2100MHz และ 2300MHz ที่ได้ใบอนุญาตมาในปี 2553 และจะหมดอายุในวันที่ 3 สิงหาคม 2568 (ใบอนุญาตอายุ 15 ปี)
บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 700MHz ของ NT มีบริการหลัก 2 รูปแบบ ดังนี้
บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายย่อย (Retail) ภายใต้แบรนด์ my และ NT Mobile (TOT Mobile เดิม) ตั้งเป้ามีลูกค้าจำนวน 3.6 ล้านราย เพิ่มจากฐานลูกค้าเดิมของ NT ที่ตอนนี้มี 2 ล้านราย
บริการดิจิทัล (Digital) โดยเน้นกลุ่มลูกค้าภาครัฐและองค์กรที่ต้องการใช้งานเซนเซอร์ (Smart Meter เช่น การประปา การไฟฟ้า) หรือระบบติดตามยานพาหนะ (Smart Tracking) รวมถึงบริการสาธารณะที่ต้องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในการบริหารจัดการบริการสาธารณะและเมือง (เช่น ป้าย Traffic Board ของตำรวจจราจร และกลุ่ม Smart Traffic Light สี่แยกไฟแดง)
นอกจากนี้ยังมีประเด็นว่า NT ต้องการใช้คลื่น 700MHz ให้บริการกับกลุ่มลูกค้าทดแทนโทรศัพท์พื้นฐาน (Fixed Line Replacement) จำนวน 900,000 หมายเลข ซึ่งคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) ไปหารือกับ กสทช. ว่าเข้าข่ายบริการโทรคมนาคมขึ้นพื้นฐานหรือไม่ หากเข้าข่ายอาจจะพิจารณารูปแบบการสนับสนุนเงินลงทุนและค่าบำรุงรักษาโครงข่าย (บางส่วน) ให้แก่ผู้ให้บริการจัดให้มีบริการดังกล่าวโดยใช้จ่ายจากเงินค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่
NT ระบุว่าการให้บริการคลื่น 700MHz จะมีสถานีฐานไม่น้อยกว่า 13,500 สถานีฐานตลอดอายุโครงการ แผนการของ NT ในปี 2566 จัดสร้างสถานีฐาน (ติดตั้งอุปกรณ์บนโครงสร้างพื้นฐานของพันธมิตร) จำนวน 5,500 สถานี และเริ่มให้บริการภายในปี 2566 เช่นกัน ส่วนปี 2567 จัดสร้างสถานีฐานเพิ่มเติม จำนวน 8,000 สถานี
โครงการนี้มีกรอบวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 61,628 ล้านบาท ประกอบด้วย
ค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX) จำนวน 30,608 ล้านบาท ได้แก่ ค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 MHz จำนวน 20,584 ล้านบาท5 ค่าใช้จ่ายการจัดหาโครงข่ายร่วมกับพันธมิตร จำนวน 9,300 ล้านบาท และค่าอุปกรณ์โครงข่าย (Network Equipment) จำนวน 718 ล้านบาท
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) จำนวน 31,026 ล้านบาท ได้แก่ ค่าดำเนินการโครงข่าย Network Cost จำนวน 29,236 ล้านบาท ค่าบุคลากร จำนวน 1,615 ล้านบาท และค่าดำเนินการอื่น ๆ จำนวน 175 ล้านบาท
ที่มา – มติคณะรัฐมนตรี