จีนส่งส่วนที่สองของสถานีอวกาศขึ้นไปยังวงโคจรรอบโลก เพื่อนำไปประกอบกับส่วนแรกที่ส่งขึ้นไปเมื่อปีที่แล้ว ก่อนที่จะส่งส่วนสุดท้ายขึ้นไปในเดือนตุลาคมนี้เพื่อนำไปติดตั้งเป็นสถานีอวกาศอย่างสมบูรณ์ภายในปีนี้
สื่อโทรทัศน์ของทางการจีน CCTV ถ่ายทอดสดการปล่อยจรวด ลอง มาร์ช 5ฺB บรรทุกชิ้นส่วนที่สองของสถานีอวกาศ น้ำหนัก 23 ตัน ชื่อว่า เหวินเทียน (“การเดินทางสู่สวรรค์”) ออกจากศูนย์อวกาศเหวินจาง บนเกาะไหหนาน เมื่อเวลา 14.22 น. ตามเวลาท้องถิ่น
ชิ้นส่วนโมดูล เหวินเทียน ถูกปล่อยจากจรวด ลอง มาร์ช หลังจากออกเดินทางได้ราว 10 นาที ซึ่ง CCTV รายงานว่าเป็น “ความสำเร็จอย่างสมบูรณ์” ท่ามกลางเสียงโหร้องยินดีของบรรดาเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ดังกล่าว
จีนเริ่มส่งชิ้นส่วนโมดูลแรกซึ่งมีชื่อว่า “เทียนเหอ” ซึ่งเป็นส่วนที่ให้นักบินพักอาศัย ขึ้นไปยังวงโคจรรอบโลกเมื่อเดือนเมษายน ปีค.ศ. 2021 ถือเป็นความสำเร็จแรกของโครงการสร้างสถานีอวกาศของจีนขึ้นมาเอง
สำหรับโมดูล “เหวินเทียน” ที่เพิ่งส่งขึ้นไปในวันอาทิตย์ เป็นส่วนที่จะใช้เป็นห้องทดลองสำหรับนักบินอวกาศ เช่นเดียวกับโมดูลที่สาม หรือ “เหมิงเทียน” ที่จะเป็นห้องแล็บเช่นกัน โดยคาดว่าจะส่งขึ้นไปในช่วงเดือนตุลาคมเพื่อนำไปประกอบกับสองส่วนแรก เป็นสถานีอวกาศที่มีลักษณะคล้ายตัวอักษร T
ทั้งนี้ สถานีอวกาศของจีนซึ่งมีชื่อเรียกว่า “เทียนกง” หรือ วังสวรรค์ จะมีขนาดราว 1 ใน 5 ของสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station – ISS) และมีนักบินอวกาศหมุนเวียนประจำการคราวละ 3 คน
รัฐบาลกรุงปักกิ่งตั้งเป้าว่าสถานีอวกาศแห่งนี้จะเสร็จสมบูรณ์ภายในปลายปีนี้ ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวจีน และยังเป็นการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 10 ปีที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ขึ้นปกครองประเทศอีกด้วย
ที่มา: รอยเตอร์